วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

7 ช่องทางออมเงินให้ประหยัดภาษี

สำหรับการเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไปแยกเป็น 2 ส่วน คือ ผู้มีเงินได้ประจำ และผู้มีเงินได้ไม่ประจำ กรณีบุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้ประจำประเภทเงินเดือนรวมถึงโบนัส ต้องนำมารวมคำนวณภาษีโดยรวมกับเงินเดือนที่ได้รับ และใช้แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 91 ยื่นเสียภาษีระหว่างวันที่ 1 มกราคม – วันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป โดยนำเงินที่ได้รับทั้งปีมาคำนวณภาษี

ทั้งนี้ รายได้ประจำมีสิทธิทางภาษีที่สามารถนำมาคำนวณภาษีหักค่าใช้จ่ายได้ 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท จากนั้นยังมีสิทธิทางภาษีให้หักค่าลดหย่อนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าลดหย่อนของผู้มีเงินได้ ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนอุปการะบิดามารดา ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวม RMF และ LTF ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น จากนั้นนำเงินได้ที่เหลือมาหักออกจากเงินบริจาค เหลือเงินได้สุทธิเท่าใดให้นำมาคำนวณภาษีตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเงินได้สุทธิที่หักค่าลดหย่อนพื้นฐานแล้วมีจำนวนไม่เกิน 150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี

จะเห็นได้ว่า ผู้มีเงินได้ประจำสามารถหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนได้ และหากต้องการลดภาระภาษี ก็ควรบริหารจัดการแผนการออมและการลงทุนเพื่อให้ได้ค่าลดหย่อนมาหักออกจากเงินได้ให้เหลือน้อยที่สุด ผู้ออมจึงได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ 1. ได้ออมเพื่อให้มีเงินใช้อย่างสบายหลังเกษียณ และ 2. ได้ลดภาระทางภาษี

ทีนี้เราลองมาดูกันว่า มีทางเลือกการออมอะไรบ้างที่ช่วยให้เราประหยัดภาษี

รายการเงินได้ที่ได้รับยกเว้น

1. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นระบบการออมเพิ่มที่ดีมากสำหรับภาคเอกชน หากบริษัทของท่านมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ควรออมให้เต็มกำลัง เพราะเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อรวมกับเงินซื้อหน่วยลงทุน RMF (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) จำนวนรวมไม่เกิน 500,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2. เงินสะสมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นระบบการออมภาคบังคับสำหรับข้าราชการ ท่านที่เป็นข้าราชการจะต้องสมทบร้อยละ 3 ของเงินเดือนทุกเดือน ในปัจจุบัน กบข. ได้เปิดโครงการออมเพิ่มเพื่อให้สมาชิกสามารถสะสมเงินเข้ากองทุนได้สูงสุดถึงร้อยละ 15 ของเงินเดือน ท่านที่เป็นข้าราชการจึงควรสมทบเงินเข้ากองทุน กบข. ให้เต็มกำลัง ทั้งนี้ เงินสะสมเข้ากองทุน กบข. เมื่อรวมกับเงินซื้อหน่วยลงทุน RMF จำนวนรวมไม่เกิน 500,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

รายการลดหย่อนและยกเว้นหลังหักค่าใช้จ่าย

3. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม กองทุนประกันสังคมเป็นระบบการออมภาคบังคับสำหรับภาคเอกชน เงินสมทบที่ท่านถูกหักร้อยละ 5 จากเงินเดือนทุกเดือน สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ตัวอย่างเช่น ท่านมีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เนื่องจากกองทุนประกันสังคมมีเพดานการจัดเก็บเงินสมทบจากฐานค่าจ้างสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท ท่านจึงสมทบร้อยละ 5 ของเพดานค่าจ้าง 15,000 บาท เป็นจำนวนรวม 750 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 9,000 บาทต่อปี เงินจำนวนนี้สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้

จะเห็นได้ว่า เงินที่ท่านสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือนนั้น นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์การคุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และว่างงาน ท่านยังได้ออมเพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณ (สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ) และยังช่วยลดภาระภาษีได้อีกด้วย

4. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจ มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายเหมือนกองทุนรวมทั่วไป ตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ไปจนถึงกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูง เน้นลงทุนในหุ้น

กองทุน RMF เหมาะสมมากสำหรับผู้ที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ เช่น ไม่ได้สมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคม หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะเป็นการสร้างระบบการออมระยะยาวให้กับตนเอง แต่ผู้ที่มีสวัสดิการรองรับแล้วก็สามารถออมเพิ่มเติมกับ RMF ได้

เงินซื้อหน่วยลงทุน RMF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่ลงทุนจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี โดยเมื่อนับรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาการลงทุนใน RMF เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น มีเงื่อนไขดังนี้

จะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปีโดยซื้อหน่วยลงทุนของ RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และ ลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท (แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า) และ ไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน และลงทุนและถือหน่วยลงทุนจนผู้ลงทุนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และมีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก

5. เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund หรือ LTF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจเช่นเดียวกับกองทุน RMF ต่างกับ RMF ตรงที่กองทุน LTF เน้นลงทุนในหุ้น แต่ RMF มีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลายเหมือนกองทุนรวมทั่วไป

ทั้งนี้ เงินซื้อหน่วยลงทุน LTF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่ลงทุนจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ กำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การลงทุนใน LTF เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น มีเงื่อนไขว่าจะต้องซื้อและถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับตามปีปฏิทิน) ทั้งนี้ การให้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการซื้อ LTF เกิดจากการที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้ลงทุนในหุ้นมากขึ้น จึงมีระยะเวลาในการสนับสนุนที่แน่นอนคือ ให้สิทธินำ LTF มาลดหย่อนได้จนถึงปี พ.ศ. 2559 และไม่บังคับว่าต้องถือต่อเนื่องจนอายุ 55 ปี แต่จะให้สิทธิประโยชน์ในการซื้อเป็นรายปี

6. เบี้ยประกันชีวิต การซื้อประกันชีวิตจัดเป็นส่วนผสมระหว่างการออมภาคสมัครใจและการคุ้มครองกรณีเสียชีวิต โดยผู้ซื้อประกันออมเงินด้วยการชำระเบี้ยประกัน และจะได้รับเงินคืนตามสัญญาหากเสียชีวิตหรือเมื่อสัญญาครบกำหนด เบี้ยประกันชีวิตสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร

7. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จากการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย การกู้ซื้อบ้านจัดเป็นการออมที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของเราทุกคน เนื่องจากบ้านถือเป็นทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ได้ คือ เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเองและครอบครัว การมีบ้านเป็นของตนเองถือเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวและเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า หากเราสามารถกู้ซื้อบ้านในช่วงวัยเริ่มทำงาน คือ อยู่ในช่วงอายุ 25 – 35 ปี และผ่อนชำระหมดภายในเวลา 15-20 ปี เราจะสามารถมีบ้านเป็นทรัพย์สินของตนเองและครอบครัวก่อนถึงวันที่เกษียณจากการทำงาน

ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 เป็นต้นไป

โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ดังนี้
www.thaimutualfund.com สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับกองทุน RMF และ LTF
www.rd.go.th สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับภาษี